วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

เหล็กไหลในลาว(ตอนที่2)


 
ทุ่งไหหินในประเทศลาวจากผู้จัดการออนไลน์
    
พักฟื้นเอาแรงอยู่เวียงจันทน์ระยะหนึ่ง เมื่อมีกำลังวังชาพอสมควรแล้ว ก็เดินธุดงค์ไปทางหลวงพระบาง ไปทุ่งไหหิน เชียงขวาง พงสาลี เดินไปเดินมาถึงบ้านหัวดงหรือบ้านดงน้อย อยู่เชิงภูเขาควายอีกด้านหนึ่ง ภูเขาควายนั้นเป็นเทือกเขาใหญ่มากเชื่อมโยงกับป่าทึบเทือกเขาอื่น ๆ จนดูเป็นพืดเดียวกัน
     บ้านหัวดงหรือบ้านดงน้อยนั้นตั้งอยู่เชิงขุนเขาใหญ่ภูเขาควายอันมีชื่อเสียงเลื่องลือในความลึกลับอาถรรพณ์ร้ายกาจ เป็นหมู่บ้านพวกลาวเทิง คำว่า “เทิง” หมายถึงที่สูง ๆ ลาวเทิงก็คือพวกลาวที่ชอบตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่สูง ๆ ตามภูตามดอยมีอาชีพทำไร่ฝิ่นบ้าง ล่าสัตว์บ้าง หาของป่าตัวยาสมุนไพรขายบ้าง เป็นต้นว่า หาไม้งิ้วดำ หาไม้กฤษณา หาไม้จันทน์แดง และที่ปลูกข้าวไร่ปลูกพริกมะเขือก็มีเยอะ
     หัวหน้าหมู่บ้านชื่อนายน้อยและนายตา มีอาวุโสกว่าใครในหมู่บ้าน ซึ่งมีกันเพียง 6-7 หลังคาเรือนเท่านั้น เมื่อเห็นพระธุดงค์มากางกรดอยู่ใกล้ ๆ หมู่บ้านเชิงเขา ก็มานมัสการถวายน้ำร้อนน้ำชาและน้ำอ้อยงบตามธรรมเนียม ได้ซักถามถึงการไปการมาธุดงค์ พระอาจารย์ทั้ง 5 ก็ได้ชี้แจงให้ทราบว่า พากันแสวงวิเวกมาจากภาคอีสานบ้านเฮาโน้นแหละ พี่น้องญาติโยมเอ๋ย ที่มาเยือนถึงถิ่นภูเขาควาย  ก็อยากจะหาทำเลที่สงบเจริญภาวนาบำเพ็ญความเพียรสร้างบารมี
     ฝ่ายหนานทั้งสองคือนายน้อยนายตานั้นก็ยิ้มอยู่ในสีหน้าชอบกลอยู่ได้เปรย ๆ ขึ้นว่า ภูเขาควายนี้เป็นดินแดนศักดิ์ศิทธิ์อาถรรพณ์ มีพระธุดงค์มาจำศีลภาวนาอยู่เสมอมิได้ขาด ปีแล้วปีเล่าจนชาวบ้านป่าเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ส่วนใหญ่พระธุดงค์เหล่านั้นพากันมาแสวงหาเหล็กไหลกายสิทธิ์ในภูเขาควาย แล้วหนานทั้งสองก็ยกมือไหว้ถามตรง ๆ ว่า “ท่านอาจารย์ที่มาแสวงวิเวกกันเที่ยวนี้ ไม่สนใจเหล็กไหลบ้างหรือขะน่อย” (ขะน่อย แปลว่า ขอรับ)

ติดตามตอนต่อไป
จากหนังสือเหล็กไหลธาตุกายสิทธิ์โดยทีมงานเฉพาะกิจ
วิทยา ประทุมธารารัตน์ บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

พญาครุฑ

ครุฑ (สันสกฤต: गरुड) เป็นสัตว์ในนิยายในประมวลเรื่องปรัมปราฮินดูและปรากฏในวรรณคดีสำคัญหลายเรื่อง เช่น มหาภารตะ เล่าว่า ครุฑเป็นพี่น้องกับนาคแ...